
สมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว จัดงานแถลงข่าวใหญ่ “เจาะลึกธุรกิจรถยนต์ใช้แล้ว รวมพลังฝ่าวิกฤติ” เพื่อให้ข้อมูล วิเคราะห์แนวโน้มและทิศทางของตลาดรถยนต์มือสองในช่วงครึ่งปีหลัง 2568 ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า ณ ห้อง แกรนด์บอลรูม โรงแรม เดอะ แกรนด์ โฟร์วิงส์ คอนเวนชั่น ถนนศรีนครินทร์ กรุงเทพฯ
ภายในงาน ได้รับเกียรติจาก นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมเป็นประธานใน พิธีเปิด พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากภาคธุรกิจ สถาบันการเงิน และองค์กรภาครัฐ ร่วมถ่ายทอดข้อมูลเชิงลึกและแลกเปลี่ยนมุมมองต่ออนาคตของอุตสาหกรรม

โดยไฮไลต์ของงาน เป็นการวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดรถยนต์ใช้แล้วในปัจจุบันและครึ่งปีหลัง 2568 โดย นายวิสุทธิ์ เหมพรรณไพเราะ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว และ นายสุวิทย์ ชอบประดู่ รองนายกสมาคมฯ รวมทั้งการให้ข้อมูลเชิงเศรษฐกิจและมาตรการสนับสนุนจากภาคการเงิน โดย น.ส. วรรณดี คูประเสริฐวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาดสินเชื่อรถยนต์ใช้แล้ว ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) นายชัชฤทธิ์ ตั้งเถกิงเกียรติ์ Deputy Chief head of automotive Lending product and transformation ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) และ นาย ธนพล บริบูรณ์ ผู้อำนวยการอาวุโส Auto Finance Sale head ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)

นายวิสุทธิ์ เหมพรรณไพเราะ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว เปิดเผยถึงสถานการณ์ล่าสุดของธุรกิจรถยนต์ใช้แล้วในประเทศไทยว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมกำลังเผชิญจุดเปลี่ยนที่สำคัญ จากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจ ราคาสินค้า และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ทั้งจำนวนรถยนต์ใช้แล้วที่เข้าสู่ตลาด ยอดขาย และการปล่อยสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่างหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง
จากข้อมูลของสมาคมฯ พบว่า จำนวนรถยนต์ใช้แล้วที่เข้าสู่ตลาดในปี 2567 มีเฉลี่ยเดือนละ 25,000 คัน หรือประมาณ 300,000 คันต่อปี แต่ในปี 2568 ลดลงเหลือเฉลี่ยเพียงเดือนละ 18,458 คัน หรือคิดเป็นการลดลงกว่า 28%
ด้านยอดขายรถยนต์ใช้แล้ว ปี 2566 มียอดขายรวม 406,000 คัน ปี 2567 ลดลงเหลือ 316,000 คัน หดตัวประมาณ 22% ขณะที่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2568 มียอดขายรวม 285,000 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 10%
นอกจากนี้ ยอดการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินสำหรับรถยนต์ใช้แล้ว ลดลงจากปี 2566 ถึง 2567 กว่า 25%และในปี 2568 ยังลดลงต่อเนื่องอีกประมาณ 10%
สมาคมฯ เผยสถานการณ์ปัจจุบันสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในอุตสาหกรรมรถยนต์ใช้แล้วอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งการปรับตัวให้ทันต่อบริบทใหม่นี้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ รัฐบาล และสถาบันการเงิน เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมให้สามารถฟื้นตัว และเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
ภายใต้แนวคิด “มาตรฐานนำอุตสาหกรรม” สมาคมฯ ได้กำหนดมาตรฐานคุณภาพที่ชัดเจน เพื่อใช้เป็นเกณฑ์กลางของอุตสาหกรรมรถยนต์ใช้แล้ว โดยส่งเสริมให้มีการตรวจสอบคุณภาพรถยนต์และจัดเกรดรถยนต์ทุกคันก่อนการจำหน่าย เพื่อยกระดับความน่าเชื่อถือของตลาดรถยนต์ใช้แล้ว พร้อมกันนี้ สมาคมยังเดินหน้าพัฒนาหลักสูตรและจัดอบรมเพื่อยกระดับทักษะและคุณภาพของบุคลากรในอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำบทบาทการเป็นองค์กรกลางในการยกระดับมาตรฐานการให้บริการ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในระยะยาว
ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์สู่รถไฟฟ้า (EV) เป็นอีกแรงกระเพื่อมสำคัญ ที่ต้องเตรียมรับมือ ไม่เพียงแต่ในด้านธุรกิจ แต่รวมถึงผลกระทบต่อแรงงานและซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง เสวนาพิเศษหัวข้อ “EV กับความเชื่อมั่นของ Eco System” จึงเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองโดยผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์และสื่อ ได้แก่ นายสุโรจน์ แสงสนิท นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) นายจาตุรนต์ โกมลมิศร์ รองประธานจัดงานบางกอกอินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ และ นายพัฒนเดช อาสาสรรพกิจ ประธานกรรมการ บริษัท แอดวานซ์ แอคทิวิตี้ จำกัด
รวมทั้งการนำเสนอแผนดำเนินงานเพื่อยกระดับมาตรฐานและสร้างความโปร่งใสในธุรกิจ ซึ่งจะสะท้อนถึงแนวทางที่ภาครัฐสนับสนุนการเติบโตอย่างมีธรรมาภิบาลของตลาดรถยนต์ใช้แล้ว โดย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
การรวมพลังจากทุกภาคส่วน เป็นโอกาสในการยกระดับมาตรฐานสร้างความเชื่อมั่น ความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงแนวทางสนับสนุนจากสถาบันการเงิน จะช่วยเสริมสภาพคล่องและทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยปรับตัวได้เร็วขึ้นเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในอุตสาหกรรม และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคในระยะยาว