
กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) นำโดย นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย จัดโครงการชี้แจงทำความเข้าใจในกระบวนการชำระบัญชีและการชำระหนี้ของกองทุนประกันวินาศภัยแก่บุคลากร สำนักงาน คปภ. ภาค 8 (สุราษฎร์ธานี) และบุคลากร สำนักงาน คปภ. จังหวัด
สุราษฎร์ธานี โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เจ้าหน้าที่มีความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับบทบาทและภารกิจของ กปว. ในการบริหารจัดการกรณีบริษัทประกันวินาศภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต
โครงการนี้มีวัตถุประสงค์หลักในการเสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการชำระบัญชีของบริษัทประกันวินาศภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการดูแลสิทธิของประชาชนและเจ้าหนี้ กปว.
ได้อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถนำข้อมูลไปถ่ายทอดต่อประชาชนและเจ้าหนี้ในพื้นที่ได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน พร้อมทั้งมีการเปิดโอกาสให้บุคลากรของสำนักงาน คปภ.
ได้ซักถามข้อสงสัยเกี่ยวกับกระบวนการชำระบัญชี โดยหนึ่งในประเด็นที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ กรณีบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทล่าสุดที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตฯ โดยกองทุนประกันวินาศภัย ได้ชี้แจงถึงแนวทางในการจัดการหนี้สินของบริษัท ตลอดจนแนวปฏิบัติในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยและเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย
นอกจากการให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับกระบวนการทำงานของกองทุนประทุนวินาศภัยแล้ว กิจกรรมในครั้งนี้ยังเป็นโอกาสให้บุคลากรจากทั้งสองหน่วยงานได้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและ หารือแนวทางการทำงานร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการให้บริการประชาชน สำนักงาน คปภ. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลัก
ในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในพื้นที่ มีบทบาทสำคัญในการเป็นสื่อกลางระหว่างประชาชนและกองทุนประกันวินาศภัย ดังนั้น การมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกระบวนการชำระบัญชี และการชำระหนี้ของ กปว. จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถให้คำแนะนำที่ถูกต้องแก่ประชาชนและเจ้าหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแนวทาง “การประชาสัมพันธ์เชิงรุก” ของกองทุนประกันวินาศภัย ที่มุ่งเน้นให้ข้อมูลที่ ถูกต้อง ชัดเจน
และเข้าถึงง่าย แก่ประชาชน โดยผ่านการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงาน คปภ. ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับธุรกิจประกันภัยในจังหวัด
กองทุนประกันวินาศภัย มุ่งหวังว่าความร่วมมือในลักษณะนี้จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับระบบประกันภัย และทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการมีประกันภัยในชีวิตและธุรกิจ
พร้อมมั่นใจได้ว่าหากเกิดเหตุการณ์ที่บริษัทประกันภัยไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ กองทุนประกันวินาศภัย
จะเข้ามาดูแลและดำเนินการตามกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนและเจ้าหนี้ทุกคน โดยจะทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยอย่างเต็มที่ต่อไป